วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ อาจารย์ประจำหลักสูตรนวัตกรรมการพัฒนาเมืองฯ สาขาการขนส่ง คณะระบบรางและการขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “ต้นแบบกลไกสร้างแผนพัฒนาเมืองโคราชด้านบริการสาธารณะและเศรษฐกิจดิจิทัลสู่ความเป็นเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด” ได้นำเสนอโครงการ Korat City Data Catalog to City Development Platform เชื่อมโยงนโยบายเมืองอัจฉริยะและระบบราชการ 4.0 ตามนโยบาย Thailand 4.0 สู่นิเวศข้อมูลมหัตของประเทศไทย หรือ Thailand Big Data ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย กว่า 200 หน่วยงาน โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
(ดีอีเอส) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา “โครงการจัดทำบัญชีข้อมูลภาครัฐ (Government Data Catalog) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566” ซึ่งเป็นกิจกรรมสัมมนาที่จัดขึ้นโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
การประชุมฯ Government Data Catalog จัดขึ้น ณ โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของบัญชีข้อมูลภาครัฐ พร้อมการบรรยายรายละเอียดฟีเจอร์ใหม่และประสิทธิภาพของ Government Data Catalog ที่ได้รับการพัฒนาให้ชาญฉลาดยิ่งขึ้น เรียกว่า Smart Plus
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ด้วยเล็งเห็นความสำคัญในการ
บูรณาการข้อมูลข้ามหน่วยงาน การพัฒนาและบริหารจัดการบัญชีข้อมูลภาครัฐจึงเกิดขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญ
ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนการทำงานของภาครัฐให้มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย เพื่อเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างแท้จริง คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) และเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบัญชีข้อมูลภาครัฐ และระบบนามานุกรม
ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ ได้กล่าวท้ายการเสวนาในที่ประชุม เกี่ยวกับความคาดหวังยกระดับและการพัฒนาของ Thailand Big Data น่าจะสามารถนำไปสู่การสร้าง Module การออกแบบระดับ Development เพื่อส่งเสริมการเกิด Digital Provider บูรณาการในการสร้าง City Digital Solution ด้านต่าง ๆ ให้กับเมืองสามารถนำไปสู่ความเป็นเมืองที่น่าอยู่และชาญฉลาดของประเทศไทยในอนาคตได้
โครงการวิจัย เรื่อง “ต้นแบบกลไกสร้างแผนพัฒนาเมืองโคราชด้านบริการสาธารณะและเศรษฐกิจดิจิทัลสู่ความเป็นเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด” ได้รับพิจารณาสนับสนุนการดำเนินจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ปีงบประมาณ 2565 #TSRI #สกสว #หน่วยบริหารจัดการทุนเพื่อการพัฒนาระดับพื้นที่ #NXPO #สอวช #PMUA #บพท